550A | Worldwide Web

​เป็นครั้งแรกที่แตะพื้นดินแดน “กังหันลม” หรือ “เดนมาร์ก” หลังจากที่ตระเวนตะลุยแทร็คไปรอบโลก เจ้า Porsche 550A Spyder หมายเลข Chassis “0121” ซึ่งเรามาทำเป็นเรื่องราวในการ “ปลุกผี” ในครั้งนี้ โดยสุดยอดนักปั้นตัวพ่ออย่าง Jürgen Barth ที่ดูจะไม่มีใครเกินเขาแล้วในตอนนี้…

​นอกเสียจากว่า คุณจะไปหลงป่าหรือหลบอยู่ในเขา จึงไม่ได้ข่าวการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ในวาระครบรอบ 70 ปี เมื่อปี 2018 นี้เอง และดูเหมือนจะเป็นช่วงจังหวะเวลาที่ดีที่จะย้อนไปเยี่ยมเยียนอดีตของจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของ “แรงบันดาลใจ” แห่งการเข้าสู่การผลิต “รถสปอร์ต” อันลือชื่อและยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าไม่เชื่อก็ลองพิจารณาดูทรวดทรงว่าได้รับอิทธิพลจากรุ่นดังในอดีตมาจวบจนทุกวันนี้ จากช่วงยุคปี 1950 Porsche ก็เริ่มการแข่งขันในระดับพื้นราก ด้วยความพยายาม จากความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับพี่น้องตระกูล Glöckler ที่ทุ่มเทและอุทิศชีวิตให้กับวงการ European RacingCircuit ที่ยุคนั้นเรียกว่า “เบิกบาน” ของเหล่าตัวแรงจากยุโรปทั้งหลาย ก่อนที่ Porsche จะผลิตรถแข่งเป็นของตัวเอง จากความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับ Porsche ทำให้สามารถจารึก “ตราสัญลักษณ์” ของ Glöckler Racing ไว้บนฝากระโปรงได้…

​สำหรับรถแข่งรุ่นแรกในตำนานของ Porsche ก็คือ 550 Spyder เรียกว่าถูกจดบันทึกไว้ว่าเป็นรถแข่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งในเซอร์กิต, ทางเรียบ, แรลลี่ และรายการแข่งสุดเร้าใจและเสี่ยงตายกว่าใครอย่าง Hill climb ที่แข่งขัน “ขับรถขึ้นเขา” ที่เร้าใจก็เพราะ “ซ้ายก็ผา ขวาก็เหว” ต้องมือถึงและใจถึงจริงๆ ตอนนั้นเจ้า 550 Spyder ถูกยอมรับว่าเป็น “รถแข่งอเนกประสงค์” ด้วยพื้นฐานที่ยอดเยี่ยมเลยนำไปต่อยอดได้กับการแข่งขันหลากหลายรูปแบบ หลังจากเวลาล่วงเลยมา ความสามารถของ 550 Spyder ถูกยอมรับให้เป็น Racing Icon ที่ใครๆ ก็รู้จัก มันจึงคู่ควรกับการเพิ่มเข้าไปในสายสะสมรถระดับตำนานโลก ก็ไม่ขัดเขินที่จะจอดเคียงข้างกับตัวระดับเทพอย่าง Mercedes-Benz 300 SL Gullwing หรือ Ferrari 250 GT ที่เรียกว่าขึ้น Hall of Fame หรือ “หอเกียรติยศ” ตลอดกาล…

​จะเรียกว่าเป็นเรื่องลึกลับสุดๆ ของวงจรชีวิตในรถสปอร์ตตระกูล Spyder ในค่าย Porsche เลยก็ว่าได้ สำหรับรุ่น 550A เพราะเป็นการผสมผสานกันด้วยเทคโนโลยีระหว่างตัว 550 และ 718 RSK และนี่เองเป็นหนทางที่ Porsche ที่เริ่มจะเอื้อมถึงเข้าใกล้ความเป็นรถแข่งเข้าทุกที ด้วยจำนวนผลิตเพียง 40 คัน ทั่วโลก และทำให้ทั่วโลกจดจำถึง “ดีไซน์” ที่ Porsche ปฏิวัติใหม่สำหรับการแข่งขันระดับโลก และในวันนี้ 550A นั้นถือว่าเป็น Rare Item ระดับสุดยอดที่นักสะสมรถทั่วโลกนั้นยินดีที่จะไขว่คว้าหามันมาครอบครองด้วยงบไม่อั้น แต่เราเจอคันหนึ่งซึ่งมีดีกรีที่ประสบความสำเร็จจากการแข่งขัน และนี่ก็จึงมาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการปลุกผีเจ้าเหล็กเปลือยไร้ซึ่งสีสันอาภรณ์ใดๆ มาห่อหุ้มร่างกาย ซึ่งเหมือนเป็นผลงานชิ้นเอกโดยหนึ่งในผู้สร้างและตกแต่ง Porsche ตัวพ่อหรือเปล่านะ แจ๋วเลย มันเหมือนกับเจอม้ายูนิคอร์นในนิยายเลยล่ะ…

​รุ่นนี้ถูกปรุงโฉมปรับแต่งให้ทั้ง “เร็ว” และ “เบา” ที่สุดเท่าที่ Porsche เคยผลิตรถรุ่นก่อนหน้านี้มา และมันก็ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมเมื่ออยู่ในอุ้งมือของ Stirling Moss และ Jack McAfee ที่พามันห้อแรดไปในเซอร์กิตอย่างดุเดือดทั่วโลก สำหรับ Leopold Schmid วิศวกรรุ่นเดอะของ Porsche ที่เป็นหัวใจสำคัญในบทบาทของการปฏิวัติในการออกแบบโครงสร้างของ 550A ซึ่งได้สร้างแชสซีส์เป็นแบบ “Space Frame” ที่เป็นแบบแผนของรถแข่งและรถสมรรถนะสูงระดับโลก ซึ่งส่วนประกอบของมันจะมี “ท่อเหล็กเหลี่ยมกลวง” ทั้งด้านหน้าและด้านท้าย สองส่วนนี้จะมาต่อกับท่อเหล็กเหลี่ยมกลวง ณ ส่วนกลางของตัวรถ ซึ่งเป็นส่วนของห้องโดยสาร พร้อมคานขวางเพิ่มความแข็งแรงและป้องกันการบิดของตัวถัง ซึ่งเฟรมรุ่นใหม่นี้ จะแข็งแกร่งกว่าเดิม 3 เท่า เปรียบเทียบกับแชสซีส์แบบขั้นบันไดในรุ่นก่อน แต่ทั้งๆ ที่ตัวเฟรมเบากว่า 550 Spyder เป็นตัวเลข 16 กก. ซึ่งน้ำหนักเฟรมทั้งหมดหนักเพียง 43 กก. เท่านั้น และที่สำคัญ ท่อเฟรมส่วนมากจะหนาเพียง 1 มม. เท่านั้นเอง…

​อื่นๆ ในการเพิ่มสมรรถนะจุดหลักๆ ให้กับเจ้า 550A ก็คือ ระบบช่วงล่างหลังแบบอิสระ (IRS : Independent Rear Suspension) เต็มรูปแบบ ที่เซ็ตอัพอย่างพิเศษจาก Wilhelm Hild วิศวกรของ Porsche เพิ่มเหล็กกันโคลงหน้าขึ้นใหม่ ที่ลดอาการของรถที่มีแนวโน้มจะไปทาง Oversteer หรือ “ท้ายออก” ร่วมกับการเซ็ตมุมแคมเบอร์ล้อให้เป็น “ลบ” เพื่อที่จะให้การจิกโค้งนั้นเฉียบขาดมากขึ้น จากเดิมที่ช่วงล่างรุ่นก่อนๆ แคมเบอร์ล้อหลังมักจะเป็น “บวก” ซึ่งประสิทธิภาพการเกาะโค้งนั้นต่ำ ผลที่ได้ก็ “สุดยอด” ในการยึดเกาะโค้งและการควบคุมที่ความเร็วสูงนั้นง่ายดายและมั่นใจ สามารถทำความเร็วได้สูงขึ้นในโค้งอย่างน่าชื่นชม ส่วนเรื่องระบบเกียร์ ก็พัฒนามาเป็นแบบ 5 สปีด รุ่นใหม่ ซึ่งสมัยนั้น 4 สปีด ก็หรูแล้ว นอกจากจะมี 1 สปีด เพิ่มมา ทำให้อัตราทดเกียร์ชิดขึ้น เร่งได้ต่อเนื่อง แถมยังมี “ซินโครเมช” ที่ทำให้เกียร์เข้าง่ายและลดอาการเสียงดังสะท้าน ซึ่งเป็นเกียร์แบบอุปกรณ์มาตรฐานที่ใช้ในตัว Spyder ตั้งแต่รุ่นปี 1956 เป็นต้นไป…

​นอกจากเรื่องเฟรมและระบบกลไกต่างๆ ที่อัพเกรดขึ้นมาใหม่แล้ว เจ้า 550 A นั้นใช้ตัวถังแบบอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุด ที่น้ำหนักเบา ปลอดสนิม ออกแบบให้ “แหวกลม” ได้อย่างยอดเยี่ยม ถูกหลักอากาศพลศาสตร์ รวมถึงดีไซน์อันโดดเด่น เพิ่มความสมดุลย์ด้วยจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่า 550 สำหรับยางอะไหล่ของ 550A ก็ยังถูกย้ายใหม่ จากเดิมที่อยู่บนเกียร์ ย้ายมาอยู่ที่ในฝากระโปรงหน้า โดยติดตั้งอยู่เหนือถังน้ำมันที่ออกแบบใหม่ให้สามารถวางยางอะไหล่ให้มันพักพิงลงไปได้ เพื่อช่วยถ่วงหน้า ลดอาการหน้าลอยที่ความเร็วสูง…

​สำหรับส่วนของเปลือกตัวถังด้านท้าย ได้ลดน้ำหนักโดยเปลี่ยนจากฝากระโปรงพร้อมบานพับเดิมออก และสร้างแบบใหม่ให้สามารถยกออกได้ทั้งชิ้นเพื่อให้ง่ายและรวดเร็ว เปิดโล่งกันเลยทีเดียวเชียว เพื่อชดเชยให้เกิดความสะดวกต่อการเซอร์วิสเครื่องยนต์ในขณะอยู่ใน Pit ที่ต้องแข่งกับเวลา สำหรับตรง “สะเอว” สองฝั่ง จะเป็นบานพับพร้อมช่องลมแบบบานเกล็ด จะสามารถเปิดขึ้นได้เพื่อเซอร์วิสทั้ง “การจูนคาร์บูเรเตอร์” และ “เปลี่ยนหัวเทียน” ได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องยกออกมาทั้งชุด ส่วนซี่กระจังบนฝาท้ายนั้น จะอยู่ไปทางด้านท้ายรถ ส่งผลให้การระบายความร้อนออกจากห้องเครื่องนั้นทำได้ดีขึ้น เนื่องจากเป็นเครื่องระบายความร้อนด้วยอากาศ ไม่มีหม้อน้ำ จึงต้องใส่ใจทางระบายอากาศและความร้อนให้ดีที่สุด…

​แลดูด้านท้าย ไฟเบรกจะดีไซน์ให้มีขนาดเล็กลง กันชนหน้าไม่ใส่เนื่องจากว่าต้องการเป็นช่องลมในการเป่าไปยัง “ออยล์คูลเลอร์” ซึ่งมีมาตั้งแต่ตัว 550 S สำหรับ 550A ที่ท่อทางเดินน้ำมันในออยล์คูลเลอร์นั้น จะมี Thermostat เป็นวาล์วที่เปิดปิดตามอุณหภูมิที่กำหนดไว้ ในบางครั้งเมื่ออากาศเย็น วาล์วก็จะปิดไม่ให้น้ำมันไหลมาระบาย แต่พออุณหภูมิถึงปกติ ก็จะเปิดให้น้ำมันเครื่องมาไหลเวียนเพื่อระบายความร้อน เครื่องยนต์ก็จะอุ่นได้เร็วขึ้น ลดอาการเสียหายจากการวิ่งในขณะที่อุณหภูมิต่ำเกินไป โลหะยังขยายไม่เต็มที่ ทำให้เกิดการสึกหรอสูงมาก ในฤดูแข่งขัน ปี 1957 FIA ได้ออกกฏการแข่งขันใหม่ สิ่งที่ถูกบังคับใช้เพื่อความปลอดภัยของคนขับ ก็คือ “โรลบาร์” ฝั่งคนขับ เอาไว้ค้ำเพื่อป้องกันคนขับโดนรถทับหัวบี้แบนจนถึงแก่ชีวิต ของ 550Aนั้น ตัวโรลบาร์จะถูกปกปิดด้วย “โหนก” ที่ทำหน้าที่เป็นที่พิงศรีษะไปในตัว ซึ่งเป็นมาตรฐานและ “แฟชั่น” ในการออกแบบจนถึงรุ่นใหม่ๆ ที่กลับไปอิงสไตล์ Retro ย้อนยุคอดีตอันแสนหวาน และ 550A ทุกคัน จะเป็นสไตล์รถเปิดหลังคา พร้อมหลังคาอ่อนเป็นผ้าใบ เพื่อให้ผ่านกฏหมายและจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้อย่างถูกต้อง…

​การจะเดินย่องหาดูเจ้า Porsche 550A ตามโชว์รูมนั้นเห็นทีจะผิดหวัง มันไม่ได้ไปจอดโชว์ในตัวแทนจำหน่ายที่ใดทั้งสิ้น แต่จะส่งมอบสำหรับนักขับทั่วโลกที่สั่งซื้อเท่านั้น ซึ่งต่างจาก 550 ที่ผลิตมาสำหรับทั้งวิ่งถนนได้ และ วิ่งใน Track ได้ แต่ 550A เป็นรถรุ่นแรกในค่ายที่ “เจาะจง” เกิดมาเพื่อเน้นประโยชน์ในการแข่งขันเต็มระบบ เป็นการสืบสานหลังจากที่ 550 ประสบความสำเร็จจากการแข่งขันมาก่อนหน้าแล้ว 550 A เกิดขึ้นมาติดๆ หลังจากที่หยุดการผลิต 550 เพียงไม่นาน ซึ่งเหล่านักซิ่งทั้งหลายก็เห็นประกายฉายแววด้วยความที่มันผลิตขึ้นมาจาก “เฟรม” ทำให้เชื่อถือและยอมรับได้ว่ามันจะให้สมรรถนะได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ…

​จะพูดไป 550A Spyder นั้นดูจะเป็นมากกว่าวิวัฒนาการจาก 550 Spyder ซึ่งสำหรับ Porsche นั้น มันเป็นการ “ปฏิวัติการออกแบบใหม่” กันเลยทีเดียว ยกตัวอย่าง การออกแบบแชสซีส์แบบขั้นบันได ของ 550 Spyder นั้นออกแบบโดย “นักแข่งรถ” แต่โครงสร้างแบบ “สเปซเฟรม” ใน 550A นั้นออกแบบโดย “วิศวกร” สำหรับความสำเร็จจากการแข่งขันครั้งแรกของ 550A ก็คือ Targa Florioเป็นการแข่งขันแบบ Road Endurance ที่ใช้ถนนรอบเกาะ Sicily ประเทศอิตาลี ในเดือนมิถุนายน ปี 1956 เป็นรถสีขาว ที่ “ทาสีแฮนด์เมด” กันเลยง่ายดี รหัสแชสซีส์ คือ 550A-0101 ซึ่งมีนักขับอิตาเลียนมือหนึ่ง คือ Umberto Maglioli ที่ห้อ 550A พุ่งเข้ารับธงหมากรุกเป็นคันแรก เรียกว่าเป็น Porsche Greatest Victory ที่ Maglioli เปิดประเดิมเอาไว้ด้วยการทำเวลาต่อรอบเร็วที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ 12 นาที 58 วินาที ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย จากการวิ่งด้วยระยะทางถึง 45 ไมล์ หรือ 71 กม. ใช้การแข่งจำนวน 10 รอบ ณ Little Madonie Circuit บนเกาะ Sicily หลังจากนั้นเลยกลายเป็น “ไข่แดง” เป็นจุดดึงดูดความสนใจและการตัดสินใจอยากเป็นเจ้าของจากนักเล่นรถทั่วโลก แต่ว่า กำลังการผลิตเจ้า “แมงมุมน้อย” จากโรงงานผลิตWerks factory (หรือ Work Factory ในภาษาอังกฤษ) จากเมือง Zuffenhausen คงไม่เพียงพอที่เสิร์ฟไปยังทีมแข่งทั่วทุกมุมโลกได้ แต่อย่างน้อย ก็มี 550A จำนวน 3 คัน ที่ยกพลไปขึ้นหาดที่ “อเมริกา” ซึ่ง 2 คัน ใน 3 คันนี้ จะถูกพ่นสีที่เป็นสัญลักษณ์ของ Porsche ในตำนาน ใช่แล้วครับ “สีเงิน” นั่นเอง…

​แต่มีอยู่คันหนึ่ง ที่มุ่งหน้าไปยังดินแดน “กังหันลม” ที่มีอากาศหนาวเย็นฉ่ำปอด หรือ “เดนมาร์ก” นั่นเอง ณ ตอนนั้นยังเพิ่งเป็นจุดเริ่มของสังคมการแข่งรถ ซึ่ง 550Aคันนี้เป็นเพียงคันเดียวในประเทศ ที่สั่งซื้อโดย PrebenAndersen ซึ่งเป็นผู้มั่งคั่งที่มีแรงบันดาลใจในการแข่งขัน ซึ่ง Andersen ก็มีทีมแข่งส่วนตัวชื่อว่า Scuderia Palanประกอบไปด้วย Garage ที่ด้านในบรรจุไปด้วยรถแข่งมากมายลานตา เช่น Cooper, Mercedes-Benz 300 SL Gullwing, 356 Carrera และบวกเพิ่มอีกคันที่เพิ่งได้ถือสิทธิครอบครอง ก็คือ 550A Spyder คันนี้นี่เอง…

​550A-0121 หมายเลขแชสซีส์นี้ ถูกส่งถึงมือ Andersen ในเดือนเมษายน ปี 1957 พอได้รถก็ไม่รอช้าที่จะจับมันเทสต์ในสนามแข่งพื้นเมืองที่เดนมาร์ก คือ Roskilde Ring (คำว่า Ring ในยุโรปจะเป็นศัพท์สแลง หมายถึง สนามแข่ง Circuit) รถคันนี้ถูกประดับด้วยการพ่นสัญลักษณ์ “แดง-ขาว” ซึ่งเป็นสีธงประจำชาติของเดนมาร์กประทับไว้บนฝากระโปรง เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของทีม คันนี้ถูกส่งเข้าประชันความเร็วในรายการ Roskilde Ring Race ในช่วงสิ้นเดือนเมษายน พร้อมนักขับขั้นเทพชาว “เดนิช” เจ้าถิ่นระดับตำนาน คือ Julius Voigt-Nielsen รับหน้าที่ Behind The Wheel กุมบังเหียน 550A คันนี้ ออกไปรบท่ามกลางเหล่ารถตัวเจ็บจากค่าย Coopers และ Lotus ซึ่งนักขับคนนี้ เป็นที่รู้กันดีถึงสไตล์การขับขี่อันดุดัน แต่มีความเชี่ยวชาญชำนาญในการควบคุมและขับขี่รถได้อย่างใกล้ถึงขีดสุด จนบางทีก็พารถไป “วน” เล่นสักรอบสองรอบในสนามแบบที่ “ไม่ได้ต้องการ” ด้วยอาศัยทักษะที่ดีจึงสามารถกู้กลับมารบกันต่อจนถึง “ตีธง” สำหรับการแข่งขันครั้งแรกกับ 550A Voigt-Nielsen นับว่าเป็นชัยชนะอย่างแท้จริง ซึ่งเขาก็ได้ลงแข่งขันอีก 6 ครั้ง กับ 550A Spyder ในระยะ 5เดือน ถัดมา ผลที่ได้ 550A-0121 กลายเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์การแข่งขันของชาวเดนิชไปแล้ว แต่…อะไรก็ไม่ยั่งยืน อีกไม่นานให้หลัง ทีม Scuderia Palan ที่ว่ามั่งคั่ง กลับมีปัญหาและหนี้สินในด้านการเงิน ทำให้รถแข่งชั้นเลิศในทีมทุกคันถูกขายทอดตลาดในช่วงปี 1958…

​โชคชะตาฟ้าเปลี่ยน จากที่เคยอยู่เย็นไปเป็น “อยู่ร้อน” เพราะเจ้า 550A Spyder คันนี้ ถูกซื้อต่อไปโดย “มือแรลลี่” Lucille Cardwell ที่วางแผนว่าจะส่งมันไปแข่งที่ Kenya และ Africa เพื่อการแข่งขันสุดหฤโหด ซึ่ง Cardwell เป็นนักขับที่คว้าแชมป์ในแอฟริกาตะวันออก โดยคู่กับ 550A-0121 คันนี้ในปี 1960 และในช่วงท้ายปีนี้เอง มันก็ถูกขายให้กับ Gordon Crow นักแข่งรถชาวเคนยา ซึ่งเป็นผู้ที่กลับมาเปิดเป็นตัวแทนจำหน่าย Porsche ในเมือง Nairobi ประเทศ Kenya ซึ่ง Crow ได้รีบขาย Lotus ตัวแข่งของเขา และรับ 550A เข้าในครอบครอง ซึ่ง Di ภรรยาของ Crow ซึ่งก็เป็นนักแข่งรถเหมือนกัน ทั้งสองคนขับ 550A-0121 แข่งขันใน Nairobi และในสนาม Nakuru ใน Kenya อีก 9 ปี ให้หลัง Jürgen Barthนักขับผู้ชำนาญการของ Porsche ได้มาเยี่ยมเยียน Crowและตรวจสอบสภาพรถคันนี้ ซึ่งตอนนั้นมันถูกทำสีน้ำเงินไปแล้ว ได้บอกว่ารถคันนี้ยังอยู่ในสภาพเยี่ยมที่พร้อมสำหรับการแข่งขัน…

​อีกประมาณปีเศษ รถคันนี้ถูกส่งไปที่อังกฤษ เพื่อปรับสภาพให้กลับไปสู่สมัย “ป้ายแดง” อีกครั้ง ก่อนที่จะส่งไปยัง “พิพิธภัณฑ์ส่วนตัว” ในเมือง Brescia ประเทศ Italy ณ เมืองนี้ จะเป็นบ้านเกิดของการแข่งขัน Mille Miglia ในช่วงปี 1970 Giuseppe Freschi คือนามเจ้าของคนใหม่นี้ ส่ง 550A Spyder คันนี้เข้าแข่งรายการ Mille Miglia ตลอดจนถึงปี 2010 ซึ่ง 550A เป็นหนึ่งในรถแข่งรุ่นสุดท้ายที่รายการแข่ง Mille Miglia แบบดั้งเดิมยินยอมให้เข้าร่วมรายการ ซึ่งหยุดไปตั้งแต่ปี 1957เหมือนกับการแข่ง Le Mans ที่ยุคนั้นยังเป็นการแข่งบนถนนหลวง ซึ่งมีความกังวลต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นได้กับคนดูที่ชมอยู่ข้างทาง มีผลทำให้คณะกรรมการจัดการแข่งขันต้องทบทวนเรื่องความปลอดภัยในการจัดแข่งขันบนท้องถนน…

​ในปี 2011 คันนี้ก็ระหกระเหินไปยังดินแดน “น้ำหอม” ฝรั่งเศส เจ้าของคนนี้ คือ Pierre Asso ชมเชยได้เพียง 2 เดือน มันก็ถูกขายต่อไปยังเจ้าของคนปัจจุบัน ที่อาศัยอยู่ในเมือง Monaco ที่จัดแข่ง F1 บนถนนหลวงอันเลื่องลือ คนทั่วไปอาจจะมองว่าทำไมรถถูกเปลี่ยนมือบ่อยมากๆ แต่ถ้าคนเล่นจริงๆ มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ที่รถระดับหายากสุดโลกแบบนี้ ที่มีจำนวนน้อยๆ แถมมี “ดีกรี” การแข่งขันแบบโชกโชนอย่างนี้ จะถูกไล่กว้านซื้อจากคนเล่นรถทั่วโลกเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เรียกว่า “ใครให้เต็มที่” ก็ “สมบัติผลัดกันชม” ในปี 2012 มันก็ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะ “ทำสาว” ใหม่ทั้งหมด ตัวถังดูไม่สวยสดจากริ้วรอย “ผ่านสมรภูมิ” การแข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องจัดการใหม่ “รีเฟรช” สภาพใหม่ ให้เหมือนกับตอนที่มันออกจากโรงงานเมื่อปี 1957 ณ วันนี้ มันไม่ใช่เรื่องสามัญธรรมดาที่จะหารถที่มี “เลข” ต่างๆ ถูกต้องทั้งหมดจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง เกียร์ แชสซีส์ ทุกอย่างมีตัวเลข Serial Number นั้นตรงกับบน “เพลท” ที่โรงงาน Porsche และผู้สร้างตัวถังอย่าง Wendler ได้กำหนดไว้ทุกประการ ซึ่งเป็นไปได้ยากยิ่งนักที่จะคงความเป็น “รถแท้” หรือ “ออริจินัล” ไว้แบบนี้ท่ามกลางเวลาผ่านมาหลายสิบปี กับการแข่งขันอย่างโชกโชน ภายใต้เลขแชสซีส์ 550A-0121 นั้น บอกได้อย่างสมศักดิ์ศรีว่ามันเป็นรถคันที่หายากและมีคุณค่าที่สุดคันหนึ่งในโลก…

​Jürgen Barth ผู้ตรวจสอบสภาพ ผู้ปรับสภาพ และหารากฐานอันแท้จริงของสาย Spyder ได้กล่าวว่า “ผมสามารถยืนยันได้ว่า รถคันนี้เป็น 550A Spyder แท้ๆ ที่มีเลขตัวถัง หรือ VIN (Vehicle Identification Number) 550A-0121 ซึ่งเป็นการดีที่จะถูกนำมาปรับสภาพใหม่ให้สวยสดในแบบดั้งเดิมดั่งออกมาจากโรงงาน” แม้ว่า 550A Spyder จะมีบางอย่างที่ถูกมองว่าเป็น “รถรุ่นอันตราย” จากความเร็วและขนาดที่เล็กของมัน ถ้าผู้ไร้ฝีมือก็อาจจะเสียการควบคุมจนเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ซึ่งเจ้า 550A-0121 คันนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ถูกขายกันแบบ “ส่วนตัว” ไม่มีการประกาศออกสู่สื่อภายนอกใดๆ ทั้งสิ้น กับตำนานการแข่งขันอย่างยาวนาน และมีประวัติการซื้อขายที่ถูกบันทึกรายละเอียดของเจ้าของแต่จะคนอย่างชัดเจน มันเป็นรถที่ “สภาพประวัติไร้มลทิน” คันหนึ่งในตำนานของ Porsche ซึ่งเป็นความสนุกและเพลิดเพลินในการลงทุน ที่อย่างไรก็ “ไม่มีวันขาดทุน” แน่นอน จากการถูกคัดเลือกไปในงานรถคลาสสิคและรถโบราณระดับโลกอันโด่งดัง เช่น Goodwood Revival, Le Mans Classic ไปจนถึง Mille Miglia มันเป็นดั่งรถยนต์ที่มีเวทย์มนต์ พร้อมที่จะฉายแสงเด่นในคลังสะสมรถที่ไหนก็ได้บนโลกนี้ หากสนใจเรื่องราวรถระดับตำนานโลกคันนี้ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่ www.550A-0121.com ที่พรั่งพร้อมไปด้วยข้อมูลอันน่าสนใจต่างๆ มากมาย…

เรื่อง:  Andrew Hosking
ภาพ:   Peter Singhof
เรียบเรียง : Intaraphoom Saengdee

นิตยสาร GTPORSCHE ฉบับภาษาไทย

Share

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *