THE PERFECTION CLASSIC ติ๊ก-อาจณรงค์ เกตุวรวิทย์

รถคลาสสิก ไม่จำเป็นต้องเป็นรถที่แรง มันอาจไม่เกาะถนน และหรูหรา แบบรถยุคใหม่ แต่ฟีลลิ่งในการขับต่างหากที่มันให้ “ความรู้สึก” ที่เด่นชัดในแต่ละรุ่น นั่นทำให้ผมใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการบูรณะรถคลาสสิกที่ผมหลงใหล

จากจุดเริ่มต้นที่เหมือนเด็กผู้ชายทั่วไปที่ชอบรถยนต์มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จนกระทั่งโตขึ้นก็มีรถยนต์และเริ่มมีกลุ่มเพื่อน ๆ ที่เรียนหนังสือด้วยกัน ก็เป็นก๊วนที่ชอบรถด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งแน่นอนว่า PORSCHE เป็นหนึ่งรถในฝันของเด็กกลุ่มนั้น จนกระทั่งผมเริ่มใช้รถ PORSCHE มาตั้งแต่ปี 1988 แล้วก็ใช้มาตลอด รถ PORSCHE คันแรกตอนนั้นเป็น 930 3.0 เทอร์โบ รุ่นปี 1975 ที่ซื้อต่อมาจากเพื่อนในกลุ่ม หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็น 930 3.3 รุ่นปี 1987 และเมื่อ เอเอเอส ออโต้เซอร์วิส นำ 993 เข้ามาขายในปี 1996 ผมก็ตัดสินใจซื้อรถ PORSCHE รุ่นใหม่ ( ในสมัยนั้น ) และใช้อยู่ร่วม 4 ปี ก็เริ่มเข้าใจตัวเอง ว่าเรื่องจริงของผม คือผมไม่ได้ชอบรถใหม่ ก็ต้องกลับมาหาซื้อ 964 มาใช้อีกครั้งหนึ่ง

จากประสบการณ์ที่ผ่านรถมาหลายคัน จนค้นพบตัวเองว่ารถคลาสสิกคือตัวตนที่แท้จริงของผม ผมก็เริ่มสะสมรถคลาสสิกมาเรื่อย และถึงแม้จะเป็นเจ้าของรถคลาสสิกมากมายร่วม 20 คัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่มีคันไหนพิเศษเกินไปกว่ารถ PORSCHE 356 C สีฟ้าคันงามคันนี้

PORSCHE 356 หลัก ๆ จะถูกแบ่งออกเป็น 356 Pre-A, 356 A, 356 B, 356 C และ 356 SC ก่อนจะเปลี่ยนเป็น 911 รุ่นแรกที่เป็น Horn Grill  โดยที่ 356 A จะใช้ตัวถัง “T5” ฝากระโปรงหน้าจะมน ๆ และใช้กระจกบานหลังแคบ ๆ และพอมาใน 356 B ช่วงแรกก็ยังคงใช้ตัวถังของ T5 แต่ภายหลังก็มีการปรับปรุงตัวถัง “T6” ออกมาด้วยฝากระโปรงหน้าป้าน ๆ กระจกหลังบานใหญ่เพื่อทัศนวิสัยที่ดีขึ้น

รถคันนี้เป็น PORSCHE 356 C รุ่นปี 1965 เป็นรุ่นสุดท้ายของ 356  ซึ่งก็ใช้ตัวถัง T6 ที่มีการปรับปรุงช่วงล่างเพิ่มเติม โดยถ้าสังเกตดูจะพบว่า 356 C นั้นจะใช้กระทะล้อที่ไม่เหมือนรุ่นอื่น เพราะใน 356 C ได้ปรับปรุงระบบเบรกจากดรัมเบรกเป็นดิสก์เบรกสี่ล้อ ทำให้เขาต้องใช้ล้อที่แตกต่างกัน

เดิมทีมันเป็นรถที่เพื่อนสนิทของผมใช้อยู่ตอนเขาไปเรียนอยู่ที่อเมริกา เพื่อนผมคนนี้ก็เป็นคนที่รักรถเหมือนกันพอเรียนจบเขาก็เลยเอากลับมาเมืองไทยด้วย แล้วผมก็จีบเพื่อขอมาดูแลต่ออยู่ร่วมสิบปี เรียกว่าเทียวไล้เทียวขื่อกันอยู่ตลอด จนสุดท้ายวันหนึ่งเขาก็ยอมขายให้ผม ภายใต้สัญญาใจกันว่าผมต้องเป็นคนดูแลรถคันนี้อย่างดี ทุกวันนี้บางวันที่เขาคิดถึงก็มาเอาออกไปขับเล่นบ้างก็มี

PORSCHE ในแต่ละรุ่นเขาจะมีเสน่ห์ที่ไม่เหมือนกัน แต่ความพิเศษในหลายด้านของ 356 เนี่ย มันกลับทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นกว่าเวลาที่ได้ขับมัน ที่เด่นชัดเลยคือ รูปทรง สังเกตว่า 356 เนี่ยการออกแบบเขาไม่มีเส้นตรงเลย ถึงแม้เราไม่ได้ขับแต่เรามองเขาเนี่ย มันรู้สึกได้ถึงอัจฉริยภาพของผู้ออกแบบ เพราะฉะนั้นทำให้เวลาที่ผมมองตัวรถเนี่ยไม่ว่าส่วนไหน มันมีความรู้สึกว่าเค้าใส่ใจในรายละเอียดในแต่ละส่วน

ในแง่ของการขับขี่ หลายคนมองดูว่ามันมีพื้นฐาน มีเครื่องยนต์ที่เหมือนโฟล์คเต่า แต่ในความเป็นจริงการขับขี่มันต่างกันโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ PORSCHE 356 จะใช้เครื่องยนต์ 75 แรงม้า 1,600 ซีซี แต่มันสามารถทำความเร็วระดับ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้สบาย โดยที่เรายังรู้สึกมั่นใจและผ่อนคลายไปกับมัน มันเป็นรถที่สามารถใช้งานได้ทุกวันโดยไม่มีปัญหาอะไร เครื่องยนต์อึดใช้ได้เลย และผมบอกได้เลยว่า PORSCHE ตั้งแต่ 356 จนถึงปัจจุบัน เรื่องอะไหล่ไม่ได้เป็นปัญหาเลย คุณสามารถหาได้อย่างแน่นอน ถ้าไม่ใช่รุ่นลิมิเต็ดนะ ปัญหาอย่างเดียวเลยที่ผมเจอคือ “ไม่มีแอร์” ซึ่งถ้าจะใช้รถในกรุงเทพโดยไม่มีแอร์ ผมก็ไม่ไหวเหมือนกัน ก็เลยตัดสินใจดัดแปลงระบบไฟจาก 6 โวลท์ เป็นแบบ 12 โวลท์ เพื่อที่จะสามารถติดตั้งระบบแอร์ได้ โดยต้องเปลี่ยนทั้งระบบไม่ว่จะเป็น ไดชาร์จ ไดสตาร์ท หน้าปัด หลอดไฟ และอะไรอีกสารพัด เพื่อเหตุผลเดียวคือผมต้องการแอร์! และมันก็ทำให้สามารถใช้รถในชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายขึ้น ก่อนหน้านี้ผมเลยใช้งานมันบ่อยเรียกว่าแทบจะทุกวัน ผมขับไปเที่ยวได้หมด หัวหิน เขาใหญ่ แก่งกระจาน แต่ 4-5 ปีหลังนี้รถมันติดมาก ประกอบกับผมได้ 964 มา ก็เลยให้เขาได้จอดพักผ่อนบ้าง

ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับเจ้าของรถคนก่อนด้วย ที่รักษาสภาพไว้ได้ดีมาก และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมก็ต้องการรักษาสภาพนี้ไว้อย่างเดิม โดยไม่มีแม้กระทั่งการทำสีใหม่แต่อย่างใด ภายในของ 356 ที่ได้รับการออกแบบให้มีความคลาสสิกตลอดกาล ด้วยผลพวงการจับมือกับบริษัท Reutter มาร่วมสะบัดปลายปากกาช่วยออกแบบให้ จนตอนหลัง Reutter ก็กลายเป็นผู้ผลิตเบาะรถยนต์ระดับชั้นนำอย่าง “RECARO” มันยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในแบบออริจินัล แต่ก็มีพรมและผ้าเบาะคู่หน้าเท่านั้นที่มีการตัดเย็บใหม่เนื่องจากทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และการที่รถคันนี้ยังอยู่ในสภาพเดิมทุกจุด ทำให้มันได้รับ PORSCHE CLASSIC CARD ซึ่งเป็นเครื่องรับรองจากทางตัวแทนจำหน่ายว่านี่คือหนึ่งใน PORSCHE CLASSIC ที่ยังคงสภาพดีที่สุดตามมาตรฐานของ PORSCHE

ซึ่งในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนกับ PORSCHE นั้น เขาก็จะตรวจสภาพตามลิสต์ต่าง ๆ ว่าต้องอยู่ในคอนดิชั่นเดิมจริง ๆ โดยเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย เราก็จะได้เห็นเอกสารที่ส่งมอบรถคันนี้เมื่อปี 1965 เปรียบเสมือนสูติบัตร ซึ่งในนั้นมันจะบอกทุกอย่างเกี่ยวกับตัวรถคันนี้รวมถึงออพชั่น  อย่างกระจกมองข้าง และคิ้วข้างตัวถัง ที่มันยังอยู่ครบ

และแม้ว่าในโรงรถของผมจะมี 991 GT3 Mk.2 รุ่นล่าสุด มันเป็นความสมบูรณ์แบบ ที่พร้อมจะปลดปล่อยพลังออกมาอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ผมลืมเสน่ห์ของรถคลาสสิกที่ทำให้มีความสุขทุกครั้งที่ได้ขับ

“อย่างรถใหม่ ๆ รถใช้งานปัจจุบัน ฟีลลิ่งก็คือเราใช้งานเขา เราอาจมีความสุขกับการขับรถที่แอร์เย็น หรือรถที่ไม่มีปัญหา แต่ความสุขของรถคลาสสิกคือการขับขี่ ถึงมันเป็นรถเก่าโบราณที่วิ่งได้ไม่เร็ว แต่ฟีลลิ่งที่เราได้รับขณะขับขี่ มันทำให้เรามีความรู้สึกสนุกกับเขาได้ มันป็นความสุขเวลาที่เราได้ขับ มันอาจจะมีข้อบกพร่องจากอายุ จากเทคโนโลยีที่ออกแบบและผลิต ณ ตอนนั้น แต่ความบกพร่องในแต่ละจุดนั้นแหล่ะ ที่ทำให้มันเพอร์เฟ็กต์บนความที่มันไม่เพอร์เฟ็กต์ จนกลายเป็นเสน่ห์ของรถคลาสสิก ความหมายของผมไม่ได้เจาะจงว่ารุ่นนี้ยี่ห้อนี้ แต่สำหรับคนที่รักในรถคลาสสิคเนี่ย จุดเหล่านี้แหล่ะที่เป็นเสน่ห์ให้หลายๆ ท่าน หลงใหลในความที่ไม่สมบูรณ์แบบในแต่ละรุ่น ที่แตกต่างกันไป

ความไม่เพอร์เฟกต์ของ 356 คือเครื่องมันอาจจะไม่แรง โดยธรรมชาติมันเป็นเครื่องที่แรงบิดน้อย การทำความเร็วของมันก็อาจต้องลากรอบสูงหน่อย แต่ที่รอบ 3000 ขึ้นไปมันยังไหลลื่น มันยังสามารถลากความเร็วได้จนถึง 150-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วยรถอายุ 40-50 ปี และการสะท้อนให้เรารับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากช่วงล่างคานบิดที่มันมีแรงส่งถึงตัวเรา ก็เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ผมหลงรักใน 356

356 ถ่ายทอด DNA ของการเป็นรถเครื่องยนต์ Air-Cooled มาจนถึง 993 โดยหลังจากเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ Water-Cooled ผมว่าหลาย ๆ เรื่องก็หายไป ยกตัวอย่างเช่น แรงสั่นสะเทือนที่ส่งผ่านมายังตัวเรา ถ้าเปรียบเทียบกับคนเล่นมอเตอร์ไซค์ ทำไม HALEY-DAVISION กับ BMW มันถึงต่างกัน ทำไม HARLEY เครื่องตั้งพันสี่ร้อยซีซี แต่แรงม้านิดเดียว แต่ฟีลลิ่งเวลาที่คนขับ HALEY ได้รับเนี่ย มันไม่ได้แรง มันอาจไม่ได้เกาะถนนจนสามารถทิ้งโค้งได้แบบ BMW แต่มันให้เรื่องของความรู้สึก เครื่องยนต์ของ Air-Cooled ของ PORSCHE ก็เหมือนกัน อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ PORSCHE สามารถรักษามาได้จนถึงปัจจุบัน คือความสุขและความสนุกที่คนขับได้รับจากการขับมัน”

Thanks for location :  Brasserie9 สาทรซอย 6

“ความบกพร่องในแต่ละจุดนั้นแหล่ะ ที่ทำให้มันเพอร์เฟ็กต์บนความที่ไม่เพอร์เฟ็กต์ จนกลายเป็นเสน่ห์ของรถคลาสสิก”

“ในแง่ของการขับขี่ หลายคนมองดูว่ามันมีพื้นฐาน มีเครื่องยนต์ที่เหมือนโฟล์คเต่า แต่ในความเป็นจริงการขับขี่มันต่างกันโดยสิ้นเชิง”

Share

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *