พา RWB Porsche 964 ไปอีสานโร้ดทริปริมโขง

เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ทางบรรณาธิการหนังสือ GT Porsche Thailand แจ้งว่าเดือนตุลาคมนี้จะมีโปรเจคร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดแคมเปญ “SUPERCAR พาเที่ยวริมโขง ตอน E-SARN ROAD TRIP” โดยวัตถุประสงค์และกิจกรรมต่าง ๆ ของทริปนี้ หลาย ๆ คนคงได้ทราบจาก GT Porsche Thailand ไปแล้ว ในฉบับนี้ ผมจึงอยากพูดถึงการเตรียมความพร้อมของรถ 964 RWB ก่อนร่วมออกทริปกับเพื่อน ๆ ในครั้งนี้และอยากแชร์ความรู้สึกในการขับเครื่องเทอร์โบในรุ่น 964 ของผมเป็นครั้งแรก

ซึ่งหากใครได้อ่านคอลัมน์ของผมที่ผ่านมา คงพอจะทราบกันว่าโดยส่วนตัวผมชื่นชอบรถปอร์เช่ 964 เป็นอย่างมาก มีสะสมอยู่หลายคัน รวมถึง 964 RWB คันที่กำลังพูดถึงนี้ ประจวบเหมาะเป็นช่วงที่ใกล้ทำเสร็จพอดี จึงถือโอกาสที่จะได้ทดสอบสมรรถนะเลยทีเดียว โดยรถ 964 RWB คันนี้ ผมซื้อมาจากเพื่อนเมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน สภาพตอนที่ซื้อมาไม่ค่อยดีนัก แต่ผมตั้งใจที่จะแปลงเป็น RWB อยู่แล้ว (หางใหญ่, ล้อและซุ้มล้อใหญ่) ใช้เวลาในการเตรียมรถเพื่อแปลงเป็น RWB ประมาณปีกว่า ๆ ในการหาอะไหล่ภายใน และค่อย ๆ ซ่อมรถให้สามารถใช้งานได้ดีขึ้น หลังจากนั้นจึงเริ่มแปลงเป็น RWB เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นมีคนขายเครื่องและเกียร์ 964 เทอร์โบพอดี จึงซื้อมาใส่ในรถคันนี้เพื่อสร้างความแตกต่างจาก 964 คันอื่น รวมทั้งผมคิดว่าล้อที่ใหญ่ขึ้นหากใส่เครื่องเทอร์โบที่มีกำลังมากขึ้น จะทำให้รถคันนี้ขับสนุกขึ้น โดยระหว่างที่ช่างทำการโอเวอร์ฮอล์เครื่องและเกียร์นั้น ก็ถือโอกาสอัพเกรดสเปคเครื่องพร้อมกันทีเดียวเลย

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมมีรถ 911 ที่เป็นเทอร์โบ ก่อนหน้านี้เคยลองขับรถของเพื่อนแต่ยังไม่ได้รู้สึกชอบอะไร รวมทั้งตอนเทอร์โบเปิดผมอาจยังไม่ชินและกลัวว่าจะอันตรายหรือเปล่า เพราะไม่เคยขับรถที่มีเทอร์โบมาก่อน พอมีโอกาสติดเทอร์โบเลยขอเป็นเทอร์โบลูกเล็ก หลังปรับแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทีมช่างนำรถขึ้นไดโน่ (Dyno) ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้วัดสมรรถนะของรถยนต์หรือถ้าให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือเครื่องวัดแรงบิดนั่นเอง โดยหลังจากขึ้นไดโน่จูนเครื่องยนต์และกล่องแล้วได้แรงม้าประมาณ 500 แรงม้า ผมก็คิดว่าจะขับได้มั้ย จะไหวหรือเปล่า ยิ่งใกล้วันออกทริปยิ่งกังวลเนื่องจากไม่ค่อยมีเวลาได้ลองขับก่อน จนได้มาขับจริงวันออกทริปช่วงบ้านชีทวน จังหวัดอุบลราชธานี โดยที่ช่วงเช้ายังไม่ได้ขับทางไกล จะขับอยู่ในตัวเมืองเท่านั้น แต่ช่วงบ่ายเริ่มทำความเร็วขับทางไกล จนได้ใช้ครบทุกเกียร์ ซึ่งความรู้สึกแรกที่ได้ลองขับรถที่มีเทอร์โบนั้น รู้สึกว่าอัตราเร่งขึ้นเร็ว สปีดต้นใช้เวลาไม่นาน เหมาะกับการขับรถทางไกล สามารถขับตามเพื่อนที่ขับรถรุ่นใหม่ ๆ ได้แบบไม่ยากเย็น ในส่วนของการออกตัวและอัตราเร่งเครื่องที่เป็นเทอร์โบนั้น สามารถตอบสนองได้ดีและน่าประทับใจ โดยเฉพาะช่วงไต่ความเร็วหรือจังหวะเร่งแซงรถคันอื่นระหว่างเกียร์ 2 ถึงเกียร์ 4 เมื่อเทอร์โบทำงานไม่จำเป็นต้องลดเกียร์ลง หลังจากเริ่มชินกับเครื่องเทอร์โบมากขึ้น จึงเข้าใจแล้วว่าทำไมหลายคนชอบขับรถที่มีเทอร์โบ

และตั้งแต่กลับมาเมืองไทย ผมมีโอกาสได้ไปแค่เชียงใหม่ ภูเก็ต หัวหิน พัทยาและเมืองท่องเที่ยวหลักอื่น ๆ แต่ผมเชื่อว่าเมืองไทยยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์อีกเยอะ หากมีโอกาสผมตั้งใจจะหาเวลาออกไปให้มากกว่านี้ ซึ่งครั้งนี้ทาง ททท. พิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่ผมคิดนั้นถูกต้อง ได้พาเราขับรถไปดูสถานที่สวย ๆ ได้รับประทานอาหารอร่อย รวมถึงได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนภาคอีสานตลอดเส้นทางที่ไป เป็นทริปที่ผมจะประทับใจไปอีกนาน

แต่หลังกลับมาจากทริปนี้แล้ว ยังมีรายละเอียดของรถที่ต้องเก็บอีก กระจกมองข้างทั้งสองปรับไฟฟ้าไม่ได้ ส่วนกระจกประตูก็ปรับขึ้นลงไม่ได้ ภายในห้องโดยสารยังต้องแก้ไขอีกนิดหน่อย และสิ่งสำคัญที่สุดต้องแก้ไขระบบแอร์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับทริปต่อไป

บทความโดย พอลล์ กาญจนพาสน์
นิตยสาร GTPORSCHE ฉบับที่ 41

Share

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *